@ Anji @

@ Anji @
is me

31.3.12

แอสเบสตอส หรือ แร่ใยหิน

แล้ว "แอสเบสตอส" มีอันตรายอย่างไรต่อเราล่ะ ไปติดตามกันเลย

          "แร่ใยหิน" หรือ "แอสเบสทอส" (Asbestos) เป็นแร่ธรรมชาติที่ปนอยู่ในเนื้อหิน ประกอบด้วยธาตุเหล็ก แมกนีเซียม ซิลิเกต และธาตุอื่น ๆ มีลักษณะเป็นเส้นใยละเอียด แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

           1.แอมฟิโบล ซึ่งแบ่งย่อยออกได้อีก 5 ชนิด คือ ครอซิโดไลท์, อะโมไซท์, ทรีโมไบท์, แอนโธฟิลไลท์ และแอคทิโนไลท์

           2. เซอร์เพนไทน์ แบ่งออกได้อีก 2 ชนิด คือ ไครโซไทล์ และไวท์ แอสเบสทอส 

 คุณสมบัติของแร่ใยหิน

          คุณสมบัติเด่นของ "แร่ใยหิน" ก็คือ ทนไฟ ทนความร้อนตั้งแต่ 700-1,000 องศาเซลเซียสขึ้นไป ไม่นำความร้อนและไฟฟ้า ทนกรด ด่าง การทำลายของแมลง มีความแข็งเหนียว และยืดหยุ่น สามารถนำมาปั่นเป็นเส้นและทอเป็นผืนได้ 

          ด้วยคุณสมบัติข้างต้น ทำให้คนนิยมนำ "แร่ใยหิน" มาเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้าง (กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องแผ่นเรียบ ฝ้าเพดาน) ,อุตสาหกรรมการผลิตท่อน้ำซีเมนต์ ,กระเบื้องยางไวนิลปูพื้น ,ผ้าเบรก, ผ้าคลัตซ์, ฉนวนกันความร้อน ,อุตสาหกรรมกระดาษอัด และอุตสาหกรรมสิ่งทอ (เสื้อผจญเพลิง) เป็นต้น 

          แน่นอนว่า สำหรับเรา ๆ แล้ว ผลิตภัณฑ์หลาย ๆ อย่างที่กล่าวมาล้วนอยู่ใกล้ตัวเราทั้งสิ้น โดยเฉพาะแผ่นใยกันความร้อนที่อยู่ใต้หลังคาบ้าน หรืออยู่ตามอาคารต่าง ๆ รวมทั้งกระเบื้องมุงหลังคา


 แล้วแร่ใยหิน อันตรายอย่างไร?

          แม้ว่า "แร่ใยหิน" จะมีคุณสมบัติทำให้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ดีขึ้น แต่ก็มีข้อเสียสำคัญ คือ "เส้นใยแอสเบสตอส" จะส่งผลกระทบต่อร่างกายของมนุษย์หากสูดเอา "เส้นใยแอสเบสตอส" เข้าไปในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากแร่ใยหินจะไม่อันตราย หากผลิตภัณฑ์นั้นอยู่สภาพดี 

          แต่หากผลิตภัณฑ์เหล่านั้นถูกทำให้แตกหัก ไม่ว่าจะถูกตัด ขัด เลื่อย ฯลฯ "เส้นใยแอสเบสตอส" จะถูกปล่อยออกมาลอยฟุ้งอยู่ในอากาศ ซึ่งการฟุ้งกระจายของแร่ใยหินเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก เพราะสามารถกระจายอยู่ได้ทุกที่ หากเราสูดดมเข้าไปสะสมจนสะสมในปริมาณที่มากและเป็นเวลานาน 15-30 ปี ก็จะทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับปอด ต่อไปนี้ได้


โรคปอด


 1.โรคปอดอักเสบจากแอสเบสตอส (Asbestosis)

          หรือที่เรียกว่า โรคแอสเบสโตสิส (Asbestosis) เกิดจากการหายใจรับเส้นใยแอสเบสตอสสะสมเข้าไปเป็นเวลานาน 5-10 ปี ขึ้นอยู่กับระยะเวลา และปริมาณที่เข้าสู่ปอด จนทำให้ปอดแข็งเป็นพังผืด และเป็นแผล อาจลามไปที่กระบังลมและเยื่อบุช่องท้อง เมื่อปอดแข็งเป็นพังผืดจะทำให้เหนื่อยง่าย ไอเรื้อรัง อ่อนเพลีย น้ำหนักลด หายใจลำบาก มีอาการเจ็บหน้าอกและตัวเขียว เนื่องจากขาดออกซิเจน

          ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะไม่สามารถรักษาโรคแอสเบสโตสิสให้หายเป็นปกติได้ ทำได้แต่เพียงหลีกเลี่ยงไม่รับฝุ่นละอองแอสเบสตอสเพิ่ม เพื่อไม่ให้อาการของโรครุนแรงขึ้น

 2.โรคมะเร็งปอด (Lung cancer)

          ผู้ที่สัมผัสกับแอสเบสตอสมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดได้ ซึ่งเกิดจากเส้นใยแอสเบสตอส เข้าไปทำลายเซลล์ปอด และเกิดเป็นพังผืดอยู่เป็นเวลานานเป็น 10 ปี จนพัฒนาการเป็นเซลล์มะเร็งได้ในที่สุด และหากใครสูบบุหรี่จะเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งปอดมากขึ้น โดยผู้ป่วยจะมีอาการไอ เจ็บหน้าอก มีเสมหะเป็นเลือด

 3. โรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด หรือ เมโสธีลิโอมา (Mesothelioma)

          เป็นเนื้องอก หรือมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นบริเวณเยื่อหุ้มปอด และเยื่อบุช่องท้อง มักจะเกิดกับผู้ที่สัมผัสแอสเบสตอสชนิดครอซิโดไลท์ และอะโมไซท์ โดยมะเร็งชนิดนี้อาจลุกลามไปยังบริเวณอื่น ๆ เช่น กระเพาะอาหาร คอหอย และรังไข่ได้ด้วย โดยผู้ที่ป่วยเป็นเมโสธีลิโอมาบริเวณเยื่อหุ้มปอด จะมีอาการหายใจติดขัด เจ็บหน้าอก หากเป็นบริเวณเยื่อบุช่องท้อง จะมีอาการปวดท้อง โรคนี้ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ภายใน 1-2 ปี

          ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากแร่ใยหินมากที่สุด ก็คือ กลุ่มคนที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมและโรงงานที่มีการใช้แร่ใยหิน รวมถึงผู้ที่ทำงานก่อสร้างและรื้ออาคาร ซึ่งมีโอกาสที่จะสูดดมฝุ่นละอองของแร่ใยหินที่ฟุ้งกระจาย หากไม่มีการป้องกันที่ดี โดยมีรายงานว่า แต่ละปีมีผู้ป่วยอย่างน้อย 90,000 คนทั่วโลกที่เสียชีวิตจากโรคปอดที่มีสาเหตุมาจากแร่ใยหิน และยังมีผู้ป่วยอีกหลายพันคนที่ไม่ได้สัมผัสแร่ใยหินโดยตรง แต่กลับป่วยด้วยโรคปอดที่มีสาเหตุมาจากแร่ใยหิน


ท่อน้ำ


 ประเทศไทยกับอุตสาหกรรมแร่ใยหิน

          ความน่ากลัวของ "เส้นใยแอสเบสตอส" ทำให้หลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ประกาศห้ามนำเข้า และยกเลิกการใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แล้ว ส่วนประเทศไทยเอง ยังมีการนำเข้าไครโซไทล์ และอะไมไซท์ เพื่อใช้ในแวดวงอุตสาหกรรมอยู่ โดยจัดเป็นวัตถุอันตรายที่ 3 คือห้ามผลิต ส่งออก หากมีไว้ในครอบครองต้องแจ้งและขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อน และต้องมีองค์กรของรัฐเข้ามาควบคุมดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมในการทำงาน 

          ส่วนแร่ใยหินชนิดครอซิโดไลท์ ถือเป็นแร่ใยหินที่อันตรายมาก ในประเทศไทยจัดแร่ใยหินชนิดครอซิโดไลท์ เป็นวัตถุอันตรายที่ 4  คือห้ามนำเข้า ห้ามผลิต ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเด็ดขาด

          ขณะเดียวกัน ในประเทศไทยก็ได้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินเป็นส่วนผสมของท่อซีเมนต์ ที่ใช้ส่งน้ำไปยังตามบ้านเรือนต่าง ๆ แล้ว โดยหันมาใช้ท่อพีวีซี หรือ พีบี แทน เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายตามมานอกจากนี้ยังมีการคิดค้นผลิตสาร PVA ขึ้นมาใช้ทดแทนแร่ใยหิน แต่ในประเทศไทยยังมีใช้น้อยอยู่ เนื่องจากราคาแพง และการสั่งนำเข้าต้องเสียภาษี ต่างจากแร่ใยหินที่ไม่ต้องเสียภาษี

อุตสาหกรรม


 หลีกเลี่ยงและป้องกัน "แร่ใยหิน" อย่างไรดี

          แนวทางที่จะหลีกเลี่ยงและป้องกัน "แร่ใยหิน" ที่ดีที่สุดก็คือ การไม่ใช้แร่ใยหิน แต่ดูจะเป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถทำได้ในขณะนี้ ดังนั้นหนทางที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ เร่งผลักดันให้มีการติดป้ายฉลากบอกว่า สินค้าประเภทใดมีส่วนผสมของแร่ใยหิน เพื่อให้คนทั่วไปรู้ พร้อมกับให้ความรู้เรื่องอันตรายของแร่ใยหินกับประชาชนทั่วไปด้วย

          สำหรับในโรงงานอุตสาหกรรม ควรจัดระบบระบายอากาศภายในโรงงานให้มีอากาศถ่ายเทที่ดี พนักงานใส่อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ และควรจัดให้มีการตรวจสุขภาพของคนงานทุกปี โดยเฉพาะให้มีการเอกซเรย์ปอด นอกจากนี้ ควรมีวิธีการป้องกันไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย หากมีการรื้อถอนอาคารในเขตเมือง เพราะจะทำให้ "เส้นใยแอสเบสตอส" ฟุ้งกระจายไปในอากาศ แล้วผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของคนทั่วไปได้ 

1 comment:

  1. ibandronic 150 mg is used Prostate cancer. Prostate cancer is common, appearing in men. This medication may cause a decrease in the blood calcium levels. This Medicine is available in the USA at a cheaper price.

    ReplyDelete

Powered By Blogger